เมื่อร้านค้าขอเกาะกระแส “Social Distancing” ปรับตัวขายของสู้ Covid-19

จากปัจจุบันที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลต้องงัด พรก.ฉุกเฉิน ออกมาขอความร่วมมือจากประชาชนในการป้องกันการแพร่ของไวรัส โดยเฉพาะทาง กทม. ที่มียอดผู้ติดเชื้อเสี่ยงที่สุดและเยอะที่สุดถึง 2,672 ราย (ข้อมูลล่าสุดวันที่ 16 เมษายน 2563) นับว่าเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศที่สูงที่สุดในขณะนี้ ทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงออกประกาศมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยให้หยุดกิจกรรมหลายอย่างในพื้นที่ กทม. เช่น ห้างสรรพสินค้า ให้เปิดแค่โซน supermarket / ร้านยา ส่วนร้านขายอาหาร ให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น ห้ามนั่งกินที่ร้าน ส่วนร้านอาหารในโรงแรมให้บริการเฉพาะลูกค้าที่เข้าพัก รวมไปถึงบริการขนส่งสาธารณะทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถไฟฟ้า และเรือโดยสาร ว่าให้ปรับจำนวนการรองรับผู้โดยสารให้ลดลง โดยเว้นระยะห่างของประชาชนให้มากขึ้นอย่างน้อย 1 เมตรผล ซึ่งทั้งหมดมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 มีนาคม-12 เมษายน รวม 22 วัน

แน่นอนว่า ผลกระทบไม่ได้ตกแค่คนทั่วไปที่อยู่ในสถานะ “ลูกค้า” ที่ต้องอุปโภคและบริโภคอาหารเท่านั้น แต่พ่อค้าแม่ค้าทั้งรายใหญ่และรายย่อยต่างได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า เป็นที่มาของกลยุทธ์ทางสังคมซึ่งเราเรียกว่า “social distancing” ที่เหล่าผู้ค้าต้องหยิบมาปรับใช้และเป็นอีกหนทางที่เพิ่มความมั่นใจและพึงพอใจให้แก่ลูกค้าด้วย

“ของก็ต้องขาย ไวรัสก็ต้องสู้!!” คือคติประจำใจของผู้ให้บริการทั้งหลายในวันที่โควิด-19 ระบาดหนัก มาครับ วันนี้กอริลล่าจะพาไปดูว่า มีผู้ประกอบการเจ้าไหนบ้าง ที่นำกลยุทธ์การเว้นระยะห่างทางสังคมนี้ไปปรับใช้ฝ่าวิกฤตโควิดกันครับ

ธนาคาร สถานที่ธุรกรรมทางการเงิน ฝาก โอน จ่าย ทุกสิ่งทุกอย่างรวมครบจบที่นี่ เป็นสถานที่สำคัญลำดับต้นๆที่ไม่สามารถปิดตัวหรือหยุดชั่วคราวได้เหมือนผู้ค้าคนอื่นทั่วๆไป ทางธนาคารจึงมีการรับมือกับโควิด-19 ด้วยมาตรการทางสังคม social distancing ไล่ตั้งแต่การเดินเข้าคิวรอรับบริการ การยืนต่อแถว การรับบริการหน้าเคาท์เตอร์ที่จะมีเส้นกั้นแบ่งระยะห่างสำหรับผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ไปจนถึงสิ้นสุดการใช้บริการก็มีเรียงลำดับความห่างของแถวผู้รับบริการไว้ด้วย โดยทุกๆจุดจะมีการทำเครื่องหมาย “เว้นระยะ”เพื่อความเป็นระเบียบ ทำให้สบายใจทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการแถมยังทำให้สามารถดำเนินการเปิดให้บริการได้อย่างต่อเนื่องและเป็นไปได้ด้วยดีครับ

ห้างสรรพสินค้า ในส่วนของห้างสรรพสินค้าที่ส่วนใหญ่ยังคงเปิดให้บริการในโซนอาหารและซุปเปอร์มาเก็ตก็มีการออกมาตรการ “take away only” คือให้บริการเฉพาะการซื้ออาหารกลับไปทานที่บ้านเท่านั้น โดยทางห้างสั่งปิดในจุดนั่งทานทุกร้านให้เปิดเฉพาะส่วนเคาเตอร์และครัวเพื่อประกอบอาหารให้ลูกค้าเท่านั้น เพื่อลดการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มากอันเป็นจุดสำคัญในการแพร่เชื้อไวรัสครับ ทั้งยังมีการทำเครื่องหมายเว้นระยะระหว่างการเข้าคิวรอสั่งอาหาร และบางร้านได้มีการจ่ายเงินโดยสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อระวังไวรัสที่จะแฝงมากับธนบัตรด้วยครับ

BTS / MRT ทางบริการของรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินเองก็เป็นอีกหนึ่งเส้นทางคมนาคมของคนกรุงที่ไม่สามารถหยุดให้บริการได้ ต่างก็มีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ไวรัสช่วงนี้ โดยจะยังมีการปรับเวลาทำการ แต่จะมีการเว้นระยะห่างระหว่างรอซื้อบัตรและการขึ้นรถไฟฟ้าของแต่ละสถานีชัดเจน มีการทำเครื่องหมาย มาร์คจุดเว้นระยะห่าง เพื่อให้ง่ายต่อการใช้บริการและความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคนด้วยครับ

ร้านกาแฟ/คาเฟ่/เบเกอรี่ สำหรับคอกาแฟเครื่องดื่มต่างๆก็ไม่ต้องกังวลครับ เพราะแม้จะมีคาเฟ่หลายแห่งปิดให้บริการแต่ก็ยังมีอีกหลายร้านที่ปรับตัวนำ social distancing มาใช้ มีการคิดค้นอุปกรณ์ขนส่งสินค้าระยะสั้นระหว่างผู้ขายและผู้ซื้ออย่างน่ารักๆออกมา กลายเป็นกระแสเล็กๆในโซเชียล ที่แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ร้านคาเฟ่ทั่วไปก็ให้ความสำคัญกับการป้องกันการติดต่อของเชื้อไวรัสโดยการเว้นระยะห่างในการซื้อขาย มีการคิดค้นใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวมาปรับปรุงใช้ ซึ่งกอริลล่าถือว่าเป็นไอเดียที่ดีมากครับ ที่จะสร้างภาพการจดจำให้ลูกค้าและเป็นการประชาสัมพันธ์ร้านไปในตัวที่เจ๋งมากๆเลยครับ

การไฟฟ้า แม้แต่ภาครัฐวิสาหกิจอย่างการไฟฟ้าก็มีการให้บริการแบบ social distancing  เช่นกันครับ โดยการมาร์คระยะห่างในการใช้บริการให้ชัดเจน และมีการหยิบยืมอุปกรณ์บ้านๆที่เราใช้สวิงตักปลามาเป็นตัวกลางในการให้บริการครับ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงได้ ซึ่งอันนี้กอริลล่าก็ชอบครับ น่ารักมากๆ เป็นหนึ่งในกระแสที่สนใจของชาวโซเชียลอีกเช่นกันครับขอบคุณภาพจาก ทวิตเตอร์ @Penguin_Indy

บริษัท/ออฟฟิศทั่วไป ภาคเอกชนก็ให้ความร่วมมือครับ บางสถานที่ก็มีการให้เข้าทำงานแบบวันเว้น นั่งเก้าอี้ห่างกันเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสครับ อย่างในทวิตเตอร์ก็มีการแชร์ภาพของโรงอาหารขณะพนักงานนั่งทานข้าวกลางวันว่า มีการดัดแปลงลานจอดรถของออฟฟิศให้กลายเป็นโรงอาหารที่มีพื้นที่ใหญ่ขึ้น มีอากาศถ่ายเทสะดวก สามารถจัดโต๊ะนั่งห่างกันได้ระยะที่พอดี และมีเจ้าหน้าที่ตรวจก่อนให้บริการทานข้าวครับ  นับว่า ใส่ใจกับพนักงานมากๆครับ และยังช่วยให้พนักงานทำงานต่อไปได้อย่างสบายใจด้วย

ร้านข้าวราดแกง อันนี้ว้าวสุดๆครับ จากเคยขายแบบตักถาดราดข้าวในตู้กระจกก็ปรับมาตักใส่กล่องวางไว้ให้เรียบร้อย พร้อมเว้นระยะห่างระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยเส้นกั้น มีเจลแอลกอฮอลล์ให้กดก่อนรับกล่องข้าว และมีสแกนคิวอาร์โค้ดแทนเงินสดเพื่อระวังการแพร่ระบาดไวรัสครับ ทำให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ห้างที่เดียวที่ยังมีอาหารขายแต่ร้านข้างทางเอง หากปรับตัวได้และใส่ใจมากพอ ก็เพียงพอที่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของลูกค้าที่จะแวะมาอุดหนุนครับ

และทั้งหมดนี้ก็คือ ส่วนหนึ่งในการปรับตัวของเหล่าผู้บริการและผู้ให้บริการเพื่อการอยู่รอดในช่วงที่ไวรัสกำลังระบาดหนักโดยการนำเอา social distance มาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมากๆครับ จะเห็นได้ว่าหลายร้านเองก็มีกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ใช้บริการมากขึ้นจากการทำ social distancing เช่นกันครับ

เก็บตกด้วยกระแสจากต่างประเทศสักเล็กน้อยครับ เมื่อบรรดาเจ้าของชุดทีเร็กซ์แต่ละตัวต่างพาเหรดออกมาเรียกความสดใสในช่วงโควิด-19 ซึ่งกำลังระบาดหนักในยุโรปด้วยการเดินแบบ social distancing เว้นระยะห่างแต่พอดี นับเป็นการโปรโมทอีกอย่างที่ทำให้คนอยากซื้อเจ้าชุดนี้มาใส่รัวๆหลังเคยมีไวรัลเกี่ยวกับชุดนี้มาหลายรอบแล้วครับ กอริลล่าก็หวังว่า ผู้อ่านทุกท่านจะมีไอเดียดีๆจากการใช้ social distancing มาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตและธุรกิจในช่วงนี้กันนะครับ

ข้อมูลอ้างอิง

ติดต่อเรา